
การวางแผนการเงินระยะยาวมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการประมาณการรายรับ รายจ่าย และปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบทางการเงินอย่างลึกซึ้งต่อบุคคลนั้น ๆ ดังนั้นการวางแผนทางการเงินระยะยาวควรพึ่งพาการเตรียมการอย่างหนักและกฎเหล็กสำคัญที่จะช่วยนำทางคุณตลอดกระบวนการวางแผน อีกทั้งยังช่วยคุณเอาชนะอุปสรรคตลอดทางอีกด้วย
เพื่อเตรียมตัวก่อนเริ่มวางแผนเป้าหมายทางการเงินระยะยาวให้แก่ลูกค้า ผู้จัดการหน่วย และสมาชิก MDRT คุณวิชิต มุ่งวิชา กล่าววว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องแจ้งเงื่อนไขและสรุปข้อตกลงในการเข้าพบ ทบทวนและให้ความรู้กับลูกค้าก่อนว่าทำไมเราต้องวางแผนทางการเงิน เป้าที่ต้องวางมีอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจเบื้องต้น แล้วค่อยเริ่มค้นหาข้อมูลทางการเงินของลูกค้าและค้นหาความจำเป็นทางการเงินที่แท้จริงของลูกค้าและสรุปความจำเป็นที่แท้จริงของลูกค้า ก่อนที่จะนำสินค้าทางการเงินมาเสนอให้ตรงกับความจำเป็นที่แท้จริงของลูกค้า” โดยคุณวิชิต ถือคติประจำตัวว่า “แผนการเงินที่แท้จริง จะพิจารณาที่การมีปฏิกิริยาต่อกันของทุกส่วนในเวลาเดียวกันและตอบสนองความต้องการในแต่ละส่วนพร้อม ๆ กัน’’
หลังจากผ่านกระบวนการเตรียมการแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยคุณวางแผนได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือที่คุณวิชิต ใช้เพื่อช่วยแนะนำเขาตลอดกระบวนการวางแผน คือชุดของกฎเหล็กข้อสำคัญที่สามารนำไปใช้ได้ในกรณีส่วนใหญ่ ซึ่งมีห้าข้อดังต่อไปนี้:
1. การยินยอมเปิดเผยข้อมูลและให้ข้อมูลทางการเงิน
- การที่เราจะวางแผนการให้กับลูกค้า ลูกค้าต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับนักวางแผนการเงินให้ทราบว่าเตรียมอะไรไว้บ้าง ซึ่งมีดังนี้
- ข้อมูลเชิงคุณภาพ สุขภาพ หน้าที่การงาน ชีวิต ครอบครัว ฯลฯ
- ข้อมูลเชิงปริมาณ รายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน
2. มุ่งเน้นค้นหาความจำเป็นที่แท้จริง (ความกังวลในอนาคต)
- ในการวางแผนการเงินครั้งนี้ของลูกค้า ต้องค้นหาว่าความจำเป็นในการวางแผนการเงินที่จะวางเป็นความจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่ เมื่อระบุความจำเป็นที่แท้จริงได้แล้ว ค่อยเอาสินค้าทางการเงินมาตอบสนองความจำเป็นในการวางแผนการเงินของลูกค้า
3. สรุป วิเคราะห์ ระบุความจำเป็นที่แท้จริง โดยพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาและความกังวลในอนาคตที่ลูกค้าบอก ว่าจะถูกปกป้อง ป้องกัน ส่งต่อ หากเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นได้อย่างไรบ้าง
4. ระบุผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเงินให้ตรงตามความจำเป็น
- ในการวางแผนการเงินของลูกค้านั้น ไม่มีสินค้าทางการเงินไหนที่ตอบโจทย์ได้ทุกความจำเป็น(ความกังวล) ในการวางแผนการเงินได้ เช่น พนักงานบริษัทคนหนึ่ง อายุ 50 ปี โสด จะทำงานอีก 5 ปีก็จะเกษียณแล้ว มีเงินเก็บตอนนี้ 5 ล้านบาท ต้องการวางแผนเกษียณ ดังนั้นในฐานะนักวางแผนการเงิน เราจะวางแผนแบบไหนและใช้สินค้าทางการเงินอะไรเพื่อตอบสนองความจำเป็นที่ลูกค้าต้องการได้ดีที่สุด เป็นต้น
5. ทบทวนเป้าหมายทางการเงินของลูกค้า ในทุกๆสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
- ในการวางแผนการเงินให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้าวางแผนการเงินแล้วบางคนก็ถึงจุดหมายบางคนก็ไม่ถึงจุดหมาย เพราะเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นก่อนที่จะเดินถึงเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เข้าทำงานบริษัทที่มีความมั่นคง เงินเดือนดี สวัสดิการดี บริษัทมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้คนทำแล้ว เปลี่ยนเป็น AI ทำแทนแล้ว บริษัทต้องลดพนักงานหรือลดเงินเดือนพนักงาน อะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น การทบทวนเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ ของนักวางแผนการเงิน
ถึงแม้จะกฎเหล็กสำคัญที่คุณสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยคุณวางแผนทางการเงินระยะยาวได้ แต่บ่อยครั้งกระบวนการนี้ก็คาดเดายาก และมีความถ้าทายสูง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การหลีกเลี่ยงอุปสรรค แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะเอาชนะมัน โดยหนึ่งในอุปสรรคที่คุณวิชิตพบเจอ คือการที่ลูกค้าไม่เปิดเผยข้อมูลทางการเงินให้ทราบทั้งหมด
ซึ่งอาจทำให้การระบุความจำเป็นที่แท้จริงในการวางแผนการเงินนั้นอาจจะล้มเลิกระหว่างทางหรือไม่เป็นไปตามความต้องการที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้คุณวิชิตรับมือกับอุปสรรคดังกล่าวด้วยการ อธิบายให้ลูกค้าเห็นถึงความจำเป็นในการเปิดเผยข้อมูลให้ทราบทั้งหมด และถ้าไม่เปิดเผยจะมีผลเสียอะไรบ้าง โดยคุณวิชิตยกตัวอย่างผลเสียเช่น
1. ถ้าไม่เปิดเผยค่าใช้จ่ายจำเป็นทั้งหมด แผนการเงินอาจจะต้องล้มเลิกกลางคัน เพราะแบกรับภาระการจ่าย และไม่สามารถระบุได้ว่าเงินที่ควรเก็บเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินควรเก็บท่าไหร่ ถ้าไม่เปิดเผยค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เงินเก็บที่ควรเก็บก็จะน้อยลง หน้าที่ของเงินก็จะด้อยค่าลง
2. ถ้าไม่เปิดเผยเงินออมและทรัพย์สินที่มีอยู่เก็บที่ไหนบ้าง หรือเก็บในรูปไหนบ้าง การเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงยก็จะน้อยลง เงินแต่ละกองมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรแบ่งหน้าที่ของเงินให้ชัดเจน
ทั้งนี้คุณวิชิตยังแบ่งการวางแผนเป็นสามระยะเวลา ได้แก่ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
- ระยะสั้น ควรเก็บเท่าไหร่ เก็บที่ไหน เก็บไว้ทำไม โดยส่วนใหญ่แล้วเก็บเพื่อสภาพคล่องหรือสำรองไว้เป็นค่าใช่จ่าย เก็บมากเกินไปเกินความจำเป็นจะทำให้เงินไม่งอกเงย
- ระยะกลาง โดยส่วนใหญ่เก็บเพื่อตอบสนองความต้องการด้านจิตใจหรือการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนภายในปีแต่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เครื่องประดับ แต่งงาน LTF RMF/SSF ถ้าเก็บมากเกินไปก็จะหมดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยาว
- ระยะยาว โดยส่วนใหญ่แล้วเก็บในรูปแบบสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น การลงทุนซื้อขายหุ้น ที่ดิน อาคาร รถยนต์ ถ้าเก็บระยะยาวมากเกินไปสภาพคล่องทางการเงินก็จะน้อย ถ้าต้องการใช่เงินทันที เมื่อขายก็จะถูกกดราคา
“ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของนักวางแผนการเงินจะต้องใช่ทักษะและความรู้ การเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมากในการที่ให้ลูกค้าเปิดเผยข้อมูลให้หมด เพื่อให้การวางแผนการเงินของลูกค้ามีโอกาสสูงมากที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจ” คุณวิชิตกล่าวเสริม
การวางแผนการเงินเป็นนับเป็นเรื่องจำเป็นมากถึงมาก ไม่วางแผนไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงและมั่นคั่งในชีวิตให้กับตัวเราและคนรอบข้างเรา คนที่เรารัก เพื่อนเรา เพื่อนของเพื่อนเราและอีกมากมาย โดยคุณวิชิตบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการมองเป้าหมายการเงินของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป้าหมายของเราเป็นเรื่องรอง และการมีจรรยาบรรณในอาชีพ ถ้าทำแบบนี้ได้อาชีพนักวางแผนการเงินจะเป็นอาชีพที่น่าทำและน่าเชื่อถือมากขึ้น
“เพื่อนๆ สมาชิก MDRT ครับ ยิ่งเรามีนักวางแผนการเงินมากขึ้นเท่าไหร่ สังคมประเทศเราและอนาคตลูกหลานเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ขอให้เราอดทนสร้างผลกระทบเชิงบวกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไมไหว ‘อย่าปล่อยให้อายุที่แก่ชราลงทุกวัน มาทำลายคุณค่าในตัวเองให้หายไป’” คุณวิชิตกล่าวปิดท้าย
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com