
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2564 จากสถิติแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับอัตราการเกิดเป็นจำนวนเกือบ 20,000 คน ในขณะที่เมื่อดูจากรายงานระบบสถิติทางการทะเบียน ปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.5% และจากรายงานประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอีก 18 ปีข้างหน้า ซึ่งประชากรสูงอายุในไทยจะเพิ่มมากขึ้นถึงราว 20.42 ล้านคน โครงสร้างของอายุประชากรที่เปลี่ยนไปนี้ล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเงินเฟ้อปัจจุบัน ทั้งต่อภาครัฐจากการที่วัยแรงงานจะมีอัตราส่วนลดลงเพราะอัตราการเกิดต่ำและภาระการดูแลประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงในภาคครัวเรือนที่ครอบครัวอาจตกอยู่ในภาวะไร้บุตรหลาน และขาดแคลนทรัพย์สินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในยามแก่
ดังนั้นเมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น การวางแผนเกษียณอายุตั้งแต่หนุ่มสาว จึงสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ค้นพบความสำคัญและการสร้างความตระหนักในการการวางแผนเกษียณอายุตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความได้เปรียบของเราในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
คนไทยมีการวางแผนทรัพย์สินล่วงหน้าไม่เพียงพอ
การศึกษาของแผนงานคนไทย 4.0 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยมีการเตรียมตัวก่อนเสียชีวิตในด้านการวางแผนทรัพย์สินไว้ล่วงหน้าไม่เพียงพอ และยังคาดคะเนอายุที่ตัวเองจะเสียชีวิตต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยไปถึง 7-8 ปี ซึ่งหมายความว่า คนไทยมีการเตรียมตัวไม่พร้อมสำหรับดูแลตนเองเวลาสูงวัย และเมื่อมองเทียบกับอัตราการเกิดที่ต่ำลงทุกปีแล้ว โอกาสที่ครัวเรือนไทยส่วนหนึ่งที่บุตรหลานไม่มีกำลังเลี้ยงดูหรือไร้บุตรหลานจะตกอยู่ในความยากจนเมื่ออายุเพิ่มจะมากขึ้นตามไปด้วย เพราะเงินออมที่สะสมไว้ ไม่เพียงพอสำหรับอายุที่ยืนยาวไปกว่าที่คิด
นอกจากนี้ รายงานเรื่องอิสระทางการเงินและการเกษียณอายุก่อนกำหนด ของบริษัทการวิเคราะห์ข้อมูล Milieu ที่ศึกษาวัยแรงงานชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุระหว่าง 18 ถึง 49 ปี จำนวน 1,500 คน จากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่า คนไทยที่อยู่ในวัยแรงงานมีการเตรียมตัวก่อนการเกษียณในระดับที่ไม่สูงเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับคนในวัยใกล้เคียงกันจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยคนไทยวัยแรงงานมีการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ (66%) วางแผนการเงิน (64%) ใช้จ่ายอย่างประหยัด (57%) ลงทุนเสริม (56%) และมีการใช้โซลูชันประกันภัยไม่ถึงครึ่ง (41%)
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องการวางแผนทรัพย์สินล่วงหน้า และเริ่มลงมือวางแผนเกษียณตั้งแต่ยังอยู่ในวัยแรงงานไม่มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นถึง 6.5% ในปัจจุบันจะส่งผลต่อการสร้างรายได้ การใช้จ่าย และการออมเงินในระยะยาวอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ สมาชิก MDRT คุณธิดารัตน์ ศักดิ์สยามกุล ได้ให้ข้อคิดจากประสบการณ์จริงในฐานะที่ปรึกษาและนักวางแผนการเงินไว้ว่า “ภาวะเงินเฟ้อทำให้ความต้องการในการวางแผนการเงินระยะยาวของลูกค้าเปลี่ยนไปแน่นอน ถ้าลูกค้ามีจำนวนเงินที่จำกัด และไม่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น ก็อาจจำเป็นเพิ่มระยะเวลาในการวางแผน เพื่อให้เงินเติบโตขึ้นตามทฤษฎี “Time Value of Money” และพออยู่พอใช้อย่างสุขสบายหลังเกษียณ”
เริ่มก่อนอุ่นใจกว่า
วันนี้ยังไม่สายเกินไปที่คุณจะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าและผู้มุ่งหวังในการเริ่มวางแผนให้กับพวกเขาในเวลาที่พวกเขายังมีแรงทำงานหาเงิน อยู่ในวัยที่พร้อมลุยและภาระชีวิตยังน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวันที่เหลืออยู่หลังหมดภาระงาน รวมถึงมีเงินพอใช้จนถึงบั้นปลายชีวิต โดยคุณสามารถเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้กับลูกค้าดังนี้:
1. ลูกค้าจะมีเวลาเก็บเงินนานขึ้นจากการตั้งเป้าหมายตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าของคุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าคนที่เริ่มเก็บตอนใกล้จะเกษียณและมีเงินจำนวนเงินเก็บมากกว่า โดยการตั้งเป้าหมายควรเริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายยามเกษียณ และประเมินว่าเมื่อเกษียณอายุคุณจำเป็นต้องใช้เงินมากแค่ไหน ซึ่งต้องคำนวณเผื่ออัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย
2. วางแผนลงทุน สร้างเงินออม สำหรับวัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่สามารถรับความเสี่ยงได้ดีกว่าวัยสูงอายุในเรื่องการลงทุน ดังนั้นการงานแผนเกษียณจะบังคับให้ลูกค้าของคุณต้องตรวจสอบเงินออมที่มีอยู่ว่ามีเงินออมในรูปแบบใดบ้าง และยังขาดเงินที่ต้องออมเพิ่มอีกเท่าไร พร้อมกับการนำเงินออมเหล่านั้นมาวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยหากยังอยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน จะเท่ากับว่าคุณมีระยะเวลาในการลงทุนที่นานขึ้น รับความเสี่ยงได้สูง และมีชัยไปกว่าครึ่งในแผนออมเงินสำหรับการเกษียณ
3. วัยทำงานคือวัยสร้างงาน สร้างโอกาส และมีภาระน้อยเมื่อเทียบกับวัยสูงอายุ โดยวัยทำงานส่วนมากจะอยู่ในช่วงที่ยังไม่มีครอบครัว ทำให้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกจากการใช้เงินเพื่อตัวเอง ดังนั้นแล้วการเริ่มวางแผนการเงินสำหรับช่วงเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้สามารถแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในอนาคต เช่น ค่ารักษาพยาบาลสำหรับสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงในบั้นปลาย เป็นต้น
การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงานให้กับลูกค้าของคุณ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สร้างคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดี แข็งแรง และอุ่นใจ ดังนั้นเราควรเริ่มต้นสร้างแผนอออมเงินให้กับลูกค้าตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่ออนาคตที่สุขสบายในวันข้างหน้า ทั้งนี้เราควรรับฟัง และสนใจเพิ่มเติมความรู้ รวมถึงค้นพบโซลูชันในการวางแผนทางการเงินในฐานะที่ปรึกษาเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ลูกค้ามักบอกว่า เงินเฟ้อเยอะเก็บยังไงก็ไม่มีทางพอเก็บยังไงก็ไม่ถึงเป้าหมาย เพราะว่ามันเยอะมากจริง ๆ สิ่งที่เรามักตอบกลับลูกค้าเสมอคือ ไม่ว่าเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไร เศรษฐกิจเป็นยังไง ทุกช่วงทุกวัยก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน และคำถามนี้ก็จะหมดไปทุกครั้ง เมื่อลูกค้าเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นในการวางแผนทางการเงินระยะยาว เก็บดีกว่าไม่เก็บ มีมากดีกว่ามีน้อย มีน้อยดีกว่าไม่มีเลย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเริ่มต้นการวางแผนทางการเงินระยะยาวให้เร็วที่สุด คือดีที่สุด” สมาชิก MDRT คุณธิดารัตน์ ศักดิ์สยามกุล กล่าวปิดท้าย
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com