ผลจากการระบาดของโควิด 19 และเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานส่งผลให้เกิด gig economy หรือ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการเพิ่มมากขึ้นของการจ้างงานชั่วคราวหรือการจ้างงานแบบเสร็จแล้วจบไป ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนเซอร์เป็นจำนวนมากขึ้น อ้างอิงจากสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสุขภาพ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2554 พบว่าจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน โดยเป็นแรงงานนอกระบบกว่าร้อยละ 62.6 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในสังคมไทย กระนั้นเอง แรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนแผนการทำงานของนักวางแผนการเงินให้เข้ากับคนกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
เข้าใจแรงงานอิสระ
ก่อนอื่น การศึกษาและเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้เป็นสิ่งที่เราควรเริ่มทำเป็นอย่างแรก แรงงานอิสระหรือฟรีแลนเซอร์เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง ไม่มีเพดานรายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีความแน่นอนของรายได้มากนัก จึงอาจทำให้เกิดการละเลยในการยื่นภาษี และอาจส่งผลตามมาหากถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น จำนวนภาษีที่ต้องจ่าย ณ วันที่โดนเรียกเก็บยอดหลังกับจำนวนที่ต้องจ่ายจริงตามหลักกฏหมายอาจต่างกันมากโข ดังนั้นการทำให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ทีแรกอาจทำให้ลูกค้าสามารถนำเงินไปออมในส่วนอื่นได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีเรื่องของการลดหย่อนที่อาจสามารถทำให้ลูกค้าได้รับเงินบางส่วนคืนได้ด้วยเช่นกัน
“เนื่องจาก อาชีพฟรีแลนซ์ มีการรับเงินได้เป็นก้อน ส่วนใหญ่เจ้าของงานจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว เราจึงควรจดรายการรับในแต่ละครั้ง พร้อมกับเก็บเอกสารการหัก ณ ที่จ่ายไว้ เพื่อได้รู้รายได้ก่อนสิ้นปี แล้วนำไปวางแผนภาษีอย่างครอบคลุมให้แก่ลูกค้า” คุณภานิชา กล่าว
เข้าใจความต้องการของแรงงานอิสระ
“ต้องมองไกลกว่าพนักงานประจำ” สื่อเดอะ แสตนดาร์ด กล่าวไว้ในบทความ “เป็นฟรีแลนซ์ก็วางแผนการเงินการลงทุนให้ชีวิตมั่นคงได้” ซึ่งสอดคล้องกับที่ สมาชิก MDRT คุณภานิชา ไชยสิงห์ ได้กล่าวไว้ว่า “ฟรีแลนเซอร์ไม่เหมือนพนักงานประจำ เขามีหลายอย่างให้ต้องคิดในด้านของการสร้างความมั่นคง” การทำงานอิสระแปลว่าแรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้มีสวัสดิการใด ๆ จากที่ทำงาน นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องสร้างความมั่นคงเองทั้งหมด เช่น การมีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพที่สามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้ในยามเจ็บป่วย หรือการมีแผนการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน เนื่องจากรายได้ที่ได้รับนั้นไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้น แผนการจัดการภาษีเป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพราะจุดนี้สามารถช่วยออมเงินได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานอิสระต้องการแผนการเกษียณ เมื่อพูดกันตามตรง แรงงานกลุ่มนี้สามารถเลือกเวลาเกษียณเองได้ เท่ากับว่าเขาสามารถวางแผนได้เลยว่าต้องการเกษียณตอนไหน ต้องเก็บออม หรือลงทุนอย่างไร ให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างครบครันและแน่นอน
เมื่อพูดถึงแผนการจัดการภาษีที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าฟรีแลนซ์ คุณภานิชา แนะนำว่า “อาชีพฟรีแลนซ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเงินได้พึงประเมินแบบ 40(2) หรือจากอาชีพเกี่ยวกับรับจ้างทำงานต่าง ๆ ซึ่งแปลงเป็นเงินได้ 40(6) หรือจากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม และเงินได้ 40(8) จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเงินได้ 40(2) หักค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเงินได้ 40(6), 40(8) หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือหักเหมาจ่าย 60% ดังนั้นเราจะแนะนำให้ลูกค้าแปลงเงินได้ให้เป็นเงินได้พึงประเมินแบบ 40(8) เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น”
ข้อดีของลูกค้ากลุ่มแรงงานอิสระ
ลูกค้ากลุ่มแรงงานอิสระเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความคล่องตัวสูงในหลาย ๆ ด้าน เช่น ตารางงานที่ปรับเปลี่ยนได้ ทำให้การนับพบนั้นง่ายขึ้น มีรายได้สูง และยังเป็นลูกค้าที่มีพื้นฐานความรู้ที่ดีและฝึกฝนพัฒนาทักษะอย่างรอบด้านอยู่เสมอ ๆ ทำให้การพูดคุยวางแผนเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวกยิ่งขึ้น
อุปสรรคที่อาจพบเจอ
อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อดีและช่องทางโอกาสที่น่าสนใจกับลูกค้ากลุ่มนี้แล้ว เหล่าลูกค้ากลุ่มฟรีแลนซ์ได้นำความท้าทายจำนวนไม่น้อยที่เราในฐานะนักวางแผนการเงินอาจต้องเตรียมตัวให้พร้อม “ลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะมองข้ามการวางแผนทางการเงินหรือพยายามวางแผนเอง” คุณภานิชากล่าว อันเนื่องมาจากตัวภาระงานที่อาจยุ่งเกินกว่าที่ลูกค้าจะจะจำรายละเอียดทั้งหมดของการวางแผนได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเช่นภาษีย้อนหลังหรือค่าปรับอื่น ๆ หรือโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การเป็นอยู่โดยปัจเจกจึงมีมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเลือกที่จะศึกษาด้วยตนเองมากกว่า เป็นต้น ดังนั้นการที่ที่ปรึกษาและวางแผนการเงินจะเข้าหาคนกลุ่มนี้อาจต้องใช้ความเป็นมืออาชีพมาแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเชื่อถือได้ สามารถพึ่งพาเราได้ และมีการให้ความรู้กับลูกค้าอยู่เสมอ รวมถึงการติดตามผลหรือพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนแผนให้เข้ากับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าในช่วงนั้นจากการเปลี่ยนแปลงของสถานะทางการงาน
“อาชีพฟรีแลนซ์มีรายได้สูง แต่ต้องเผชิญกับรายได้ที่ไม่แน่นอน ตลอดจนไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลและเงินเกษียณอายุ คนเหล่านี้จำเป็นต้องเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมากเป็นพิเศษ เพื่อใช้จ่ายยามขาดรายได้ ดังนั้นตัวแทนที่มีลูกค้ากลุ่มฟรีแลนซ์จำเป็นต้องช่วยวางแผนออมเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมการแผนประกันสุขภาพและแผนเกษียณ เพราะอนาคตที่ไม่มีสวัสดีการรองรับ ย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้น โดย 3 ขั้นตอนการวางแผนออมเงินของกลุ่มฟรีแลนซ์ควรประกอบไปด้วย 1. สำรองเงินฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน 2. สร้างสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล โดยการทำประกันสุขภาพ และ 3. วางแผนเกษียณอายุ ด้วยกองทุน RMF และประกันบำนาญ” คุณภานิชา กล่าวเสริม
สุดท้ายนี้คุณภานิชายังแนะนำอีกว่า “การสร้างความสัมพันธ์เชิงสูงกับลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อการเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้นถึงหลายปัจจัยที่ต้องเผชิญและเป้าหมายต่าง ๆ ที่ลูกค้าวางเอาไว้ รวมถึงคำแนะนำข้างต้นอย่างการแสดงความเป็นมืออาชีพให้ลูกค้าเห็นในกระบวนการทำงาน การให้ข้อมูล และการวางตัวก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในเราได้เช่นกัน”
Contact: MDRTEditorial@teamlewis.com