ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินที่มีประสบการณ์มานานกว่า 25 ปี คุณจันทร์เพ็ญ ฉัตรพัฒนมงคล ได้พบเจอกับลูกค้าที่มีความมั่นคงและไม่มั่นคงทางการเงินมากมาย อย่างไรก็ตามหนึ่งในความท้าทายที่สุดสำหรับที่ปรึกษาทางการเงินคือการดูแลลูกค้าที่เผชิญกับความไม่มั่นคงที่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะเมื่อรายรับที่มั่นคงมาโดยตลอดต้องสูญหายเนื่องจากการเลิกจ้าง
ใช้ ‘สติ’ ประคอง ‘สตางค์’
เมื่อพบกับลูกค้าเหล่านี้ คุณจันทร์เพ็ญ กล่าวว่า “ความสำคัญแรกที่ต้องให้ความสนใจ คือ การจัดสรรและบริหารเงินที่มีอยู่ และการมองหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้สามารถจัดสรรรายรับ-รายจ่ายได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยลูกค้าควรประเมิน รายจ่าย ที่ต้องจ่ายออกอย่างสม่ำเสมอ เช่น หนี้สิน การผ่อนชำระต่าง ๆ ซึ่งควรผ่อนตามดอกเบี้ย เรียงลำดับความสำคัญให้เหมาะสม และใช้ ‘สติ’ ในการคิดคำนวณปัญหาต่าง ๆ อย่างรอบคอบ” เพื่อให้สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางรายได้ และป้องกันความเสี่ยงทางรายได้ ให้กระทบทางการเงินน้อยลง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ เช่นที่ผ่านมา
รู้จักวางแผนการเงินตาม “ปิรามิดทางการเงิน”
ปิรามิดทางการเงิน อาจเป็นกลวิธีที่อาจคุ้นหูคุ้นตาสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่น้อยคนนักที่จะนำมาปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตาม หลังการเลิกจ้างที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเงิน การวางแผนรายรับ-รายจ่ายตามวิธีนี้ จะเป็นเสมือนแผนการกำหนดอำนาจการใช้เงินของเรา เพื่อสร้างวินัยทางการเงินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
โดยคุณจันทร์เพ็ญ กล่าวว่า ปิรามิดทางการเงิน คือแนวทางที่สื่อให้ลูกค้าเข้าใจถึงการวางแผนทางการเงินให้มีความมั่นคงทางการเงิน จัดการความเสี่ยงของตัวเองและจัดสรรให้ครอบครัวได้อีกด้วย
“ฐานรากของ(สามเหลี่ยม) ต้องสำรองเงินให้รองรับการใช้จ่ายให้เพียงพอหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ดำรงอยู่ได้ถึง 6-12 เดือน และหากไม่สบายเจ็บป่วยก็มีความคุ้มครองที่เพียงพอ ส่วนช่วงกลางของ (สามเหลี่ยม) คือการสร้างความมั่นคงของการเงิน เข่นมีเงินออม หรือการวางแผนให้เงินเติบโตหรือสะสมเพื่อยามเกษียณ เพราะเงินจะเติบโตตามเวลา และช่วยให้มีวินัยในการออม และออมก่อนรวยกว่า และส่วนบนของ (สามเหลี่ยม) คือเงินส่วนที่สามารถนำไปลงทุนได้โดยไม่กระทบกับครอบครัวหรือชีวิต ซึ่งหากอยากให้เติบโตก็ต้องมีการลงทุนที่ลคถนัด หรือมีความรู้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทอง กองทุน เป็นต้น”
ดังนั้น ปิรามิดทางการเงิน เป็นหนึ่งในเทคนิคที่คุณจันทร์เพ็ญ จะแนะนำให้ลูกค้าปฏิบัติตาม เมื่อเกิดปัญหารายได้ผันแปรอย่างฉับพลันอันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ยิ่งไปกว่านั้นที่ปรึกษาควรแนะนำสินค้าทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในสถานการณ์นี้อย่างตรงจุด คุณจันทร์เพ็ญ ยกตัวอย่างว่า “หากดูจากปิรามิดแล้ว สิ่งสำคัญอันดับแรกคือรากฐานที่มั่นคง ซึ่งประกอบด้วยสภาพคล่องเงินสด และการปกป้องความมั่งคั่งจากรายรับที่คงเหลือ ดังนั้นที่ปรึกษาควรให้ลูกค้าจัดสรรเงินให้เพียงพอใช้ในช่วงที่ขาดรายได้ไปก่อน โดยอาจยอมลดเงินออมลงบางส่วน เพราะให้มีสภาพคล่องที่เหมาะสมกับรายรับในตอนนี้ และค่อย ๆ สร้างความมั่นคงและไต่ระดับปิรามิดทีละขั้น ๆ”
อย่าลืมมองหาโอกาสระยะสั้น-ระยะยาว
หลังจากที่เรามี สติ และวางแผนการเงินตามปิรามิดทางการเงินแล้วนั้น คุณจันทร์เพ็ญ ให้คำแนะนำต่ออีกว่า เราควรมองหาโอกาสที่จะช่วยสร้างรายได้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้มีการสำรองไว้ ซึ่งอาจเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพสำรอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางรายได้ ลงมือทำโดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม รวมถึงที่ใช้ต้นทุนน้อย และได้เงินคืนในเวลาอันสั้น
คุณจันทร์เพ็ญ ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงว่า “ก่อนหน้านี้มีลูกค้าท่านหนึ่งที่เคยถูกเลิกจ้าง เขาจึงไปเปิดร้านขายน้ำที่มีลิขสิทธิ์แฟรนไชส์เพราะชื่นชอบส่วนตัว และหาที่เช่าขาย จ้างลูกจ้าง ตกแต่งและซื้อวัตถุดิบ/อุปกรณ์มากมาย แต่ขายได้ไม่มากในแต่ละวัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีต้นทุนค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าสินค้าที่แน่นอนคงที่ แต่ยอดขายไม่แน่นอนและไม่คงที่ จนสุดท้ายตัดสินใจเลิกทำจึงเสียหายซ้ำอีก”
เหตุการณ์ข้างต้นอาจเกิดจากการลงมือทำโดยที่วิเคราะห์ข้อมูลไม่ถี่ถ้วน หรืออาจเป็นงานที่เรามีความชอบ แต่ยังไม่มีความถนัดมากพอ อีกทั้งการค้าขายธุรกิจเล็ก ๆ นั้นไม่ง่ายเสมอไปเพราะต้องศึกษากลไกการตลาด ทำเล สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มาพร้อมความเสี่ยงอยู่เสมอ
“สุดท้ายนี้ลูกค้าต้องประเมินผลงาน และควรมีการคาดการณ์ระยะเวลาความสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นการวางแผนระยะสั้นหรือยาว จำเป็นต้องถามใจตัวเองว่าหากไม่มีเงินกลับเข้ามาจากการลงทุนแล้วจะกระทบขนาดไหน มีผลตอบแทนเป็นที่พอใจหรือไม่ และทำด้วยความตระหนักถึงความสำคัญทางการเงินอยู่เสมอ” คุณจันทร์เพ็ญ กล่าวปิดท้าย
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com