คุณจีรวัฒน์ รัตนมณี สมาชิก MDRT 8 ปี จากจังหวัดปัตตานี ประเทศไทย ที่ปรึกษาทางการเงินผู้มีประสบการณ์มากกว่า 17 ปี ดูแลลูกค้ากว่า 800 ราย จะมาแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับวิธีการที่ไมโครไฟแนนซ์ได้สร้างผลกระทบในทางบวกต่อชุมชนธุรกิจขนาดย่อม พร้อมแนวทางในการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนของลูกค้าในยุคปัจจุบัน ทั้งในแง่การขยายโอกาสทางธุรกิจและสร้างความยั่งยืนสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
บทบาทสำคัญของไมโครไฟแนนซ์ในการสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบรายย่อยการไทยในปัจจุบัน
บทความเรื่องบทบาทของไมโครไฟแนนซ์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนบนเว็บไซต์เงินติดล้อได้อธิบายบทบาทของไมโครไฟแนนซ์เอาไว้ว่าเป็นบริการทางการเงินที่มีความสำคัญต่อกลุ่มคนรายได้น้อยและครัวเรือนที่มีข้อจำกัดทางการเงิน รวมถึงผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นซี่งอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการจากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมได้ จุดประสงค์หลักของไมโครไฟแนนซ์คือการสนับสนุนการประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพ และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กให้กับกลุ่มประชากรที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความยากจนทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ซึ่งจากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าคนไทยในกลุ่มยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 2.39 ล้านคน และกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความยากจนยังมีจำนวนถึง 5.74 ล้านคน หรือคิดเป็น 8.19% ของประชากร ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัจจัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อน ทำให้การหลุดพ้นจากความยากจนยังไม่เป็นไปอย่างยั่งยืน แม้แนวโน้มจะดีขึ้นบ้าง แต่ช่องว่างระหว่างสัดส่วนคนจนกับกลุ่มที่เปราะบางต่อความยากจนยังคงไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับกลุ่มดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งบทบาทของไมโครไฟแนนซ์จะมีส่วนช่วยสนับสนุนและลดช่องว่างนี้ได้เป็นอย่างดี
โดยคุณจีรวัฒน์ได้กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวเอาไว้ว่า “ไมโครไฟแนนซ์มีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานรากในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย โดยช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพานิชย์ได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาเศรษกิจในระดับชุมชนและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ทั้งนี้คุณจีรวัฒน์ยังได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของไมโครไฟแนนซ์ต่อธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยที่น่าสนใจนอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นอีก 4 ประเด็น ดังนี้
- การลดความยากจนและกระจายรายได้ ระบบไมโครไฟแนนซ์ช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยผู้กู้สามารถนำเงินไปสร้างอาชีพและรายได้ได้อย่างยั่งยืน
- การพัฒนาผู้ประกอบการ นอกจากเงินทุน โครงการไมโครไฟแนนซ์ยังให้คำปรึกษาและความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ ช่วยพัฒนาทักษะด้านการดำเนินกิจการ ส่งเสริมการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
- การสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ไมโครไฟแนนซ์ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับการสนับสนุนสามารถสร้างการจ้างงานในพื้นที่ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน
- การสร้างวินัยทางการเงิน การเข้าร่วมโครงการไมโครไฟแนนซ์ช่วยปลูกฝังวินัยการออมและการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมพฤติกรรมทางการเงินที่ดีและยั่งยืนสำหรับผู้กู้
ความท้าทายของไมโครไฟแนนซ์และแนวทางการให้คำแนะนำเพื่อความสำเร็จ
สำหรับที่ปรึกษาทางการเงิน การช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดย่อมที่ต้องการขอสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดหาสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการกับอุปสรรคที่อาจทำให้การขอสินเชื่อไม่ประสบผลสำเร็จ โดยคุณจีรวัฒน์ได้ระบุถึงอุปสรรคที่ธุรกิจขนาดย่อมเหล่านี้มักเผชิญไว้ 3 ข้อ ได้แก่ “อย่างแรกคือการขาดความรู้ทางการเงิน ผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายขาดความรู้ในการจัดการทางการเงินซึ่งทำให้ไม่สามารถจัดทำเอกสารทางการเงินต่าง ๆ ส่งผลให้สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของพวกเขาได้ อย่างที่สอง การขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นการค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ซึ่งทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจในการปล่อยกู้ แม้ว่าโครงการไมโครไฟแนนซ์บางแห่งอาจไม่ต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็อาจได้รับวงเงินที่จำกัด และสุดท้ายการขาดความรู้ในการบริหารความเสี่ยง ผู้ประกอบการรายย่อยมักเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การเปลี่ยนแปลงของตลาด ภัยธรรมชาติ หรือปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้”
ด้วยเหตุนี้ที่ปรึกษาทางการเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยแนะนำและสร้างแนวทางแก้ไขเพื่อให้ลูกค้าของตนสามารถเข้าถึงสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยสร้างความมั่นคงให้กับลูกค้าผ่านการแนะนำแนวทางที่เหมาะสมกับความต้องการและเป้าหมายในระยะยาว โดยคุณจีรวัฒน์ได้แบ่งปันวิธีการรวมถึงเทคนิคของตนในการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าดังกล่าวไว้ทั้งสิ้น 3 วิธีการ ดังนี้
- การวางแผนการเงินและการจัดการกระแสเงินสด ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าใจวิธีการจัดการกระแสเงินสดและการวางแผนทางการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพคล่องโดยแนะนำการจัดทำงบประมาณประจำเดือน การบันทึกรายได้และรายจ่าย รวมถึงการวางแผนสำรองเงินสดไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
- การประเมินความเสี่ยงและการทำประกัน ที่ปรึกษาควรแนะนำให้ผู้ประกอบการทำการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจและชีวิตส่วนตัว เช่น การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ โดยแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมั่นคงแม้ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
- การให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุน ที่ปรึกษาควรแนะนำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจัดทำบัญชีแยกสำหรับการออมธุรกิจและบัญชีส่วนตัว พร้อมแนะนำการลงทุนที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว และเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณ
คุณจีรวัฒน์ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประสบการณ์การทำงานที่ประทับใจในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรายย่อยว่า “ผมได้มีโอกาสในการเข้าให้คำแนะนำทางการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งผลไม้ ผมได้แนะนำให้เขาวางแผนด้านการเงินและทำประกันสุขภาพสำหรับทั้งตัวเขาและครอบครัว หลังจากที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการประกันสุขภาพ ผู้ประกอบการรายนี้ได้ตัดสินใจทำประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณม่ของเขาด้วย เนื่องจากพวกท่านอยู่ภายใต้การดูแลของเขา และไม่นานหลังจากนั้นเกิดเหตุไม่คาดฝัน คุณพ่อและคุณแม่ของเขาประสบอุบัติเหตุถูกต่อหัวเสือต่อยอย่างรุนแรง จึงต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน การมีประกันสุขภาพที่เราแนะนำทำให้ครอบครัวนี้สามารถเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้มาก โดยไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ย้ำถึงความสำคัญของการวางแผนด้านการเงินและการประกันสุขภาพ ที่ช่วยให้ครอบครัวผู้ประกอบการสามารถรับมือกับวิกฤติได้อย่างมั่นคง” จากกรณีศึกษาของคุณจีรวัฒน์แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจถึงความท้าทายที่ตัวลูกค้าเผชิญรวมถึงการวางแผนการเงินที่ดีสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดและช่วยให้ครอบครัวของผู้ประกอบการมีความมั่นคงในช่วงวิกฤติ โดยไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินที่เกินความสามารถทำให้ธุรกิจยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com